อาชีพวิศวกรรมไฟฟ้า




นิยามอาชีพ

ทำงานทางเทคนิคภายใต้การแนะนำและควบคุมของวิศวกรไฟฟ้า โดยใช้ทฤษฎีความรู้เกี่ยวกับหลักการทางไฟฟ้า วิธีการทดสอบไฟฟ้า และวิชาการที่เกี่ยวข้องกันมาใช้ในการผลิต การก่อสร้าง การติดตั้ง การทดสอบ การใช้และการบำรุงรักษา การพัฒนาและแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าอุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ : เตรียมแผนงาน รายงานปฏิบัติงาน ภาพสเกตซ์ รูปแบบ แผนภาพ ข้อมูล รายงาน และรายละเอียด ต่าง ๆ สำหรับการปฏิบัติงาน ใช้มือหรือเครื่องมือประกอบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ใช้งาน ปรับ ทำบันทึก ดูแล แก้ไข เปลี่ยนแปลง ซ่อม และปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า อุปกรณ์และส่วนประกอบอื่น ๆ ตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ระบบไฟฟ้าหรือ
อุปกรณ์ไฟฟ้าขัดข้องหรือไม่ทำงานเพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงและป้องกัน รวมทั้งทำงานด้านการบำรุงรักษาและซ่อมแซม ปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากวิศวกรไฟฟ้า

ลักษณะของงานที่ทำ
ทำงานทางเทคนิคภายใต้การแนะนำ และการควบคุมของวิศวกรไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ทฤษฎี อิเล็กทรอนิกส์หลักของวงจรไฟฟ้า วิธีการทดสอบ ไฟฟ้า คณิตศาสตร์ทางวิศวกรรมและวิชาการที่เกี่ยวข้องกันมาใช้ในการผลิตการ ก่อสร้าง การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ และการบำรุงรักษา การพัฒนา การแก้ไข เปลี่ยนแปลง การซ่อมระบบอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ และ ส่วนประกอบต่างๆ
ทำงานติดตั้ง ซ่อมบำรุง ควบคุมการทำงานของระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกลไฟฟ้า เครื่องทำความเย็น และเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร และในงานอุตสาหกรรม
ช่างเทคนิคไฟฟ้าจะปฏิบัติงานในลักษณะผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยวิศวกร ในการออกแบบ เขียนแบบติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบไฟฟ้าทั้งภายในและ ภายนอกอาคาร ระบบไฟฟ้าในงานอุตสาหกรรม อาจควบคุมช่างและคนงานที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้าง การติดตั้ง และการซ่อมระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเทคนิคไฟฟ้ามีหน้าที่รับผิดชอบงาน ดังนี้
1. ปรับแต่งควบคุมและตรวจเช็คเครื่องควบคุมไฟฟ้ากระแสสลับ เช่น ชุดควบคุมมอเตอร์ โดยคอนแทคเตอร์และชุดควบคุม อินเวนเตอร์แบบต่างๆ เป็นต้น
2. เดินสายไฟฟ้าระบบจ่ายพลังงาน และควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน
3. ตรวจเช็ค ซ่อมแซม และติดตั้งเครื่องจักร ทางไฟฟ้า เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า อุปกรณ์ตรวจเช็ค และอุปกรณ์ควบคุมการทำงานในกระบวนการผลิตของงานอุตสาหกรรม
4. ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องมือวัดกระแส เครื่องมือวัดแรงดัน เครื่องมือวัดความต้านทาน เป็นต้น
5.ปฏิบัติงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

สภาพการจ้างงาน

ผู้ประกอบอาชีพนี้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนที่แตกต่างกันไปตามความรู้ความชำนาญและสถานประกอบกิจการในอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ ดังนี้
เงินเดือน
วุฒิการศึกษา ราชการ เอกชน
วุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงาน 4,000 - 4,500 6,000
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ 5,260 6,000 - 6,500
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 6,490 6,500 - 7,500

อัตราเงินเดือนของผู้ประกอบอาชีพนี้ในภาคเอกชนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความสามารถและความชำนาญงาน นอกจากค่าตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วอาจได้รับค่าตอบแทนในรูปอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการใน รูปต่างๆ
เงินโบนัส ค่าล่วงเวลา เป็นต้น

สภาพการทำงาน
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำงานทั้งในและนอกสถานที่ ทำงานในการตรวจ ซ่อม และบริการระบบควบคุมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในงานอุตสาหกรรมสภาพการทำงานหนักปานกลางต้องใช้ความอดทนต่อสภาพความร้อน เสียง กลิ่นของสารเคมี ทำความสะอาดอุปกรณ์และบางโอกาสทำงานตามลำพังต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบสูงพอสมควร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานและบางครั้งต้องทำงานเกินเวลา

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
คุณสมบัติของช่างเทคนิคไฟฟ้า
- สำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
- ทำงานในระดับช่างฝีมือ หรือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทำงานในระดับช่างเทคนิค
- มีร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่องานอาชีพ
- มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร สามารถทำงานกลางแจ้ง
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบการคิดคำนวณ มีความละเอียดรอบคอบ
- มีความเป็นผู้นำ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
- มีความมั่นใจในตนเองสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมต่อไปนี้ : ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตร 3 ปี ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง (งานติดตั้งไฟฟ้า งานเครื่องกล ไฟฟ้า งานช่างเทคนิคในอาคารขนาดใหญ่ งานเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม และงานเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ) ในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือสาขาวิชาไฟฟ้าในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถเข้าทำงานในระดับช่างฝีมือแรงงาน หรือศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปีประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง (งานติดตั้งไฟฟ้า งานเครื่องกลไฟฟ้า งานช่างเทคนิคในอาคารขนาดใหญ่ งานเครื่องมือวัดอุตสาหกรรม และงานเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ) ในสถานศึกษาสังกัด กรมอาชีวศึกษา หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือสาขาวิชาไฟฟ้าในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถเข้าทำงานในระดับช่างเทคนิค สำหรับแรงงานใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไปฝึกในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) หรือ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) 10 เดือน และฝึกในสถานประกอบการอีก 2 เดือน รวมระยะเวลาฝึกทั้งหมด 12 เดือน จึงจะได้รับวุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงาน (วพร.) แนวการฝึกเน้นภาคปฏิบัติ 70% ความรู้ความสามารถที่รับการฝึกจะได้รับจากการฝึก ได้แก่ ไฟฟ้าโรงงาน เครื่องมือทดสอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระบบดิจิตอล และ ไมโครโปรเซสเซอร์ เครื่องจ่ายไฟ และเครื่องควบคุมระบบควบคุมเรียงลำดับความปลอดภัยในการทำงานและโครงงานอิเล็กทรอนิกส์สามารถเข้าทำงานในระดับช่างฝีมือ

โอกาสในการมีงานทำ
ช่างเทคนิคไฟฟ้า สามารถเลือกทำงานได้ทั้งประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับติดตั้งระบบไฟฟ้าเครื่องทำความเย็น และเครื่องปรับอากาศ หรือรับราชการ เช่น กรม โยธาธิการ กรมทางหลวง หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้านครหลวงหรือภูมิภาคการประปานครหลวง หรือภูมิภาคหรือเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการ
เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและ วงการธุรกิจทั้งทางด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งต้องอาศัยไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบเกือบทั้งหมด อาชีพช่างเทคนิคไฟฟ้าจึงเป็นอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ที่รับราชการหรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจะเลื่อนขั้นเงินเดือนและตำแหน่งตามกฎระเบียบที่วางไว้ ส่วนงานเอกชนนั้นเมื่อระยะเวลาการทำงานเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีความสามารถและชำนาญงานก็จะได้เลื่อนตำแหน่งงานและเงินเดือนสูงขึ้นตามความสามารถ และประสบการณ์ นอกจากนี้ยังสามารถหารายได้พิเศษโดยรับติดตั้งระบบไฟฟ้าอาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรม
มีพื้นฐานอาชีพนี้สามารถฝึกเพิ่มเติมฝีมือในหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือใน สพร. อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการมาก เนื่องจากกระบวนการทำงาน และ กระบวนการผลิตจะเปลี่ยนไปในทางการควบคุมแบบอัตโนมัติซึ่งต้องใช้การควบคุมที่แน่นอนและแม่นยำจึงต้องอาศัยอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปช่วยในการควบคุม
ผู้ประกอบอาชีพนี้หากต้องการความก้าวหน้าในวิชาชีพจะสามารถศึกษาต่อเพื่อเพิ่มวิทยฐานะในอาชีพในตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอาจจะศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่เปิดสอนสาขาวิชาไฟฟ้าหลักสูตร 4 ปี สำเร็จการศึกษาได้วุฒิปริญญาตรีผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่เปิดสอนสาขาวิชาไฟฟ้า หลักสูตร 4 ปี สำเร็จการศึกษาได้วุฒิปริญญาตรีหรืออาจจะศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปีจะทำงานในวิชาชีพนี้ต่อไปหรือสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับวุฒิปริญญาตรีต่อเนื่องในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรวุฒิปริญญาตรีต่อเนื่อง

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
พนักงานขาย ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเครื่องกล ช่างซ่อมวิทยุ ช่างซ่อมโทรทัศน์ หัวหน้าควบคุมการทำงาน พนักงานควบคุมการทำงานเครื่องจักร ช่างเทคนิค ช่างซ่อมเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม

แหล่งข้อมูลอื่นๆ
สถาบันการศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษา
สถานศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน
การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

 

 


รายวิชาในแต่ละหมวดวิชาและจำนวนหน่วยกิต

  • โครงสร้างหลักสูตร
  • แผนการเรียน